ประวัติความเป็นมา
ในอดีตการปกป้องรักษาบ้านเมือง นอกจากมีกำลังพลกองทัพบกแล้ว กำลังพลกองทัพเรือ ก็มีความสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติ ตั้งแต่สมัย กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กำลังรบทางเรือในลำน้ำ แม่น้ำลำคลอง ใช้เรือพายเป็นหลัก การรบจะเรือพายเข้ามาชิดเรือข้าศึก และฝีพาย ซึ่งเป็นกำลังรบด้วย จะทำการเข้าประชิดตัวข้าศึก ทำการรบพุ่งกับข้าศึก. ดังนั้นเรือพายจึงเป็นกำลังหลักทางน้ำ ในยามบ้านเมืองสงบปราศจากข้าศึก กองทัพเรือได้ทำเรือพายมาใช้ในการแข่งขันกีฬา เช่น การเล่นเพลาเรือ พระเพณีพรและประเพณีแข่งเรือ
ประเพณีแข่งเรือ เป็นประเพณีหน้าน้ำของคนไทย เป็นการละเล่นในยามน้ำหลากที่สืบทอดมาแต่โบราณ และมักมีการแข่งเรือควบคู่ไปกับการทำบุญ ปิดทอง ไหว้พระและงานกฐิน ช่วยสร้างบรรยากาศให้งานบุญครึกครื้นขึ้น
ประเพณีแข่งเรือ เป็นการละเล่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยในชนบทถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้น้ำ ในช่วงเดือนสิบเอ็ดและเดือนสิบสอง ชาวบ้านเว้นว่างจากการทำไร่ทำนา เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบปะเกี้ยวพาราสีกัน ได้เห็นฝีไม้ลายมือของชายอกสามศอก ได้เห็นความสามัคคีพร้อมเพรียงของเหล่าหนุ่มฝีพาย การแข่งเรือมักมีการเล่นเพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงครึ่งท่อน และสักวาโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาวหลังการแข่งเรือ เป็นกรใช้ฝีปากไหวพริบและความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน โต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ได้แสดงความสามารถทั้งหญิงและชาย ผู้ดูมีทั้งอยู่บนตลิ่ง และที่พายเรือกันไปเป็นหมู่ ต่างสนุกสนานกันทั่วหน้า
เรือแข่งที่แถบชาวบ้านลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใช้แข่ง เรียกเรือยาว ซึ่งทำจากท่อนซุงทั้งต้น การต่อเรือยาวต้องใช้ความรู้ ความชำนาญมาก จึงจะได้เรือที่สวยและแล่นได้เร็วเวลาพาย
ปัจจุบันประเพณีการแข่งเรือยังมีเหลืออยู่บ้างไม่มากเหมือนสมัยก่อน เพราะวิถีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เราไม่ค่อยจะได้ยินเสียงเพลงเห่เรือของฝีพายและของชาวบ้าน กลับได้ยินเพลงลูกทุ่งแทน เพราะขาดผู้รู้คุณค่าและความสนใจที่จะรักษาไว้ จึงไม่ได้สนับสนุนผู้มีความรู้ความสามารถในการเห่เรือ ให้สืบทอดประเพณีนี้ต่อมา เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานราชการ และเอกชนบางแห่ง เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีแข่งเรือ จึงได้จัดให้มีการแข่งเรือขึ้นในหลายๆท้องถิ่นที่อยู่ริมน้ำ ซึ่งประสบผลสำเร็จ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมากมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น